12 เทรนด์อีคอมเมิร์ซไทย ในปี 2567 (Thailand E-Commerce Trends 2024)

โดย ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด


โลกการค้าออนไลน์ของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นจนการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นเรื่องปกติ แต่ละธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้ทัน แนวโน้มและโอกาสของธุรกิจ e-commerce ในประเทศไทยในปี 2024 จะเติบโตและก้าวไปอย่างไร คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานบริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด และผู้บุกเบิกวงการอีคอมเมิร์ซไทย ได้วิเคราะห์ 12 เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 และคำแนะนำที่มีประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ ดังนี้

1. E-Commerce ไทยถูกผูกขาดโดยต่างชาติโดยสมบูรณ์


ปัจจุบันการค้าขายออนไลน์ในประเทศไทยแบ่งออกเป็นหลายช่องทาง โดยช่องทางที่ใหญ่ที่สุดคือการซื้อขายผ่านทางอีมาร์เก็ตเพลส (E-Marketplace) และรองลงมาคือทางโซเชียลคอมเมิร์ซ (Social Commerce) ซึ่งปีนี้การซื้อขายผ่านทาง แอปพลิเคชันสั่งอาหาร หรือ On-Demand Commerce กลายเป็นช่องทางใหม่ที่คนไทยนิยมซื้อสินค้า และเป็นช่องทางทั้งหมดที่มี มาจากผู้ให้บริการจากต่างประเทศทั้งสิ้น

หลังจากที่ขาดทุนติดต่อหลายปีกันเป็นหมื่นล้าน เหล่าผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสต่างเริ่มทำกำไรแบบชัดเจน โดยผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศไม่ได้สร้างระบบตลาดนัดเพื่อการซื้อขายเท่านั้น แต่เน้นให้บริการครบทั้งระบบนิเวศของการค้าออนไลน์ 3 ส่วน ได้แก่

  • ซื้อ (Buy) ผ่านทาง Marketplace (Shopee, Lazada)
  • จ่าย (Pay) ผ่านบริการกระเป๋าชำระเงินของตัวเอง (Shopee Pay, LazPay)
  • ส่ง (Delivery) ผ่านบริการบริษัทส่งของๆ ตัวเอง (Shopee Express, Lazada Express)

การที่บริษัทยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซเข้ามาลงทุนครบทุกระบบนิเวศ ทำให้บริษัทเหล่านี้มีจุดแข็งเหนือกว่าบริษัทอื่นๆ ที่มีให้บริการเฉพาะทางเท่านั้น เมื่อสามารถควบคุมตลาดซื้อขายออนไลน์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ฮั้ว’ และขึ้นราคาค่าบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้ชัดจากกรณีการขึ้นราคาค่าบริการของการขายของในอีมาร์เก็ตเพลสอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น โดยไม่มีการควบคุมจากภาครัฐ ตัวอย่างเช่น Shopee และ Lazada มีการขึ้นราคาค่าบริการสูงถึง 150 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 7 เดือน นอกจากนี้ ยังมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาในตลาดอีคอมเมิร์ซ คือ TikTok ซึ่งเริ่มกลายเป็นช่องทางการซื้อสินค้าของคนยุคใหม่ ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซรุนแรงขึ้น

คำถามคือ ทำไมรัฐไทยจึงปล่อยให้มีการขึ้นราคาค่าบริการได้อย่างง่ายดายเช่นนี้

**คำแนะนำ**

ภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมและกำกับดูแลการค้าออนไลน์อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เพราะหากปล่อยให้บริษัทต่างชาติเข้ามามีบทบาทในการค้าออนไลน์โดยไม่มีข้อจำกัด ในอนาคตอาจทำให้ผู้ประกอบการไทยถูกครอบงำและเสียเปรียบได้

2. การแข่งขันส่งสินค้าดุเดือด ขาดทุนแทบทุกราย ยกเว้นผู้ให้บริการขนส่งครบวงจร


ปัจจุบันการส่งสินค้ากลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจการค้าออนไลน์ เห็นได้จากผลประกอบการของบริษัทขนส่งในประเทศไทยที่ขาดทุนเกือบทุกราย ตัวอย่างเช่น ไปรษณีย์ไทยขาดทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท Kerry Express และ Flash Express ขาดทุนนับหมื่นล้านบาทเช่นกัน สาเหตุที่ขาดทุนหนักหน่วงขนาดนี้เพราะการแข่งขันสูง มีการลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้า

แต่ผู้ให้บริการขนส่งครบวงจรอย่าง Shopee Lazada และ J&T มีกำไรมากกว่า เพราะให้บริการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองและขนส่งสินค้าด้วยบริษัทขนส่งของตัวเอง ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนและบริการได้ดีกว่า

3. สงคราม Live Commerce ปะทะ Entertainmerce


นอกจากนี้ TikTok ยังส่งลูกค้าให้กับพ่อค้าแม่ค้าได้ง่ายกว่า และมีโปรโมชั่นมากกว่า Facebook Live อีกด้วย จึงทำให้พ่อค้าแม่ค้าหลายคนหันมาขายสินค้าผ่าน TikTok กันอย่างถล่มทลาย

รูปแบบพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์เปลี่ยน แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  • การซื้อแบบไม่ได้ตั้งใจ (Influence Buying) มักเกิดขึ้นจากการดูคลิปสั้นบน TikTok ที่นำเสนอสินค้าอย่างน่าสนใจและดึงดูดใจ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากซื้อโดยไม่ได้มีการวางแผนมาก่อน เรียกว่า "Entertainmerce การค้าผ่านความบันเทิง"
  • การซื้อแบบมีแผน (Intend Buying) มักเกิดขึ้นจากการค้นหาสินค้าที่ต้องการซื้อใน e-marketplace ที่มีสินค้าหลากหลายและราคาที่เปรียบเทียบได้ง่าย เรียกว่า "Marketplace แหล่งรวมสินค้า"
**คำแนะนำ**

การนำสินค้าเข้ามาขายผ่าน Live commerce เป็นแนวทางที่คุณต้องทำ ต้องทดลอง และต้องเอาจริง เพราะมันคือช่องทางใหม่ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ดีมากๆ และต้นทุนถูกกว่า

4. KOL Commerce การค้าผ่านคนดังออนไลน์


ปัจจุบันคนไทยนิยมติดตามคนดังออนไลน์ หรือที่เรียกว่า KOL (Key Opinion Leader) ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะมีฐานผู้ติดตามจำนวนมาก เมื่อคนดังออนไลน์พูดถึงสินค้าหรือบริการต่างๆ จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อและสนใจซื้อสินค้าหรือบริการตามคนดังออนไลน์เป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้จึงมีบริการ MCN (Multi Channel Network) เกิดขึ้น โดย MCN จะเป็นเหมือนเอเจนซี่ที่รวบรวมเหล่าคนดังออนไลน์ไว้ เมื่อเจ้าของสินค้าต้องการขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ ก็สามารถใช้บริการ MCN เพื่อส่งคนดังออนไลน์ไปช่วยขายและโปรโมทสินค้าหรือบริการให้กับแบรนด์ต่างๆ โดย MCN จะคิดค่าบริการในรูปแบบของส่วนแบ่งทางการค้า (Commission)

กระแสนี้ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่หลายคนตั้งใจจะเป็นคนดังออนไลน์หรือ KOL เพื่อขายสินค้าหรือบริการให้กับแบรนด์ต่างๆ และสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ดังนั้นเจ้าของสินค้าและธุรกิจต่างๆ จึงควรพิจารณาใช้ KOL คนดังออนไลน์มาช่วยขายและโปรโมทสินค้าหรือบริการของตัวเอง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคและเพิ่มยอดขาย

**คำแนะนำ**

เลือกคนดังออนไลน์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายของคุณมาช่วยรีวิวสินค้าของคุณผ่านช่องทางออนไลน์ จะช่วยเพิ่มยอดขายให้คุณได้ง่ายๆ

5. Affiliate Commerce : การค้าผ่านตัวแทน


ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการระบบนี้มากขึ้น โดยการนำสินค้าไปให้คนดังช่วยขายแบบระบบที่เรียกว่า Affiliate Commerce หรือ การค้าผ่านตัวแทน เช่น นำสินค้าไปใส่ในแพลตฟอร์ม กำหนดราคา รายละเอียด และรูปภาพ จากนั้นกำหนดค่าคอมมิชชั่น (เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้าที่ได้รับเมื่อมีคนซื้อสินค้า) เช่น ขายแชมพูลดผมร่วง ขวดละ 100 บาท ให้ค่าคอมมิชชั่น 20% คนที่เปฌ็นตัวแทนขาย จะได้รับ 20 บาทต่อทุกรายการสั่งซื้อ 1 ขวด

โดยการขายประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นการขายออนไลน์ ทำให้ตัวแทนสินค้าสามารถสมัครและเลือกสินค้าไปขายได้ง่าย ด้วยวิธีนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ของตน เช่น TikTok หรือช่องทางอื่นๆ ที่เป็นที่นิยม และเมื่อมีคนสนใจและกดสั่งซื้อ คำสั่งซื้อจะถูกส่งไปยังเจ้าของสินค้า จากนั้นเจ้าของสินค้าจะส่งสินค้าไปให้และแพลตฟอร์มจะคำนวณค่าคอมมิชชั่นให้ตัวแทนโดยอัตโนมัติ การค้าด้วยวิธีนี้กำลังได้รับความนิยม เพราะยิ่งมีคนช่วยโปรโมทสินค้ามากเท่าไหร่ โอกาสขายและเพิ่มยอดขายก็จะยิ่งมากขึ้น

**คำแนะนำ**

แนะนำให้เปิดร้านค้าบน TikTok Shop และเปิดบริการ Affiliate Commerce พร้อมกำหนดค่าคอมมิชชั่นที่สูง (แต่ต้องไม่ขาดทุน) จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น

6. สินค้าจีนยังคงบุกไทยต่อเนื่อง


สินค้าจีนยังคงเข้ามาขายในไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระบบขนส่งจากจีนมาไทยสะดวกขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรขาเข้า โดยนำสินค้าไปวางไว้ในโกดังเขตปลอดอากร (FreeZone) ทำให้สินค้าจีนมีความได้เปรียบกว่าสินค้าในประเทศหรือผู้ที่นำเข้าเสียภาษีอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐไทยได้ออกมาตรการควบคุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สินค้าที่ไม่มี มอก. อย. และมาตรฐานต่างๆ ออกจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำให้สินค้าจีนที่ไม่ได้มาตรฐานบางส่วนไม่สามารถขายได้ แต่สินค้าเหล่านี้ก็ยังคงลักลอบขายในช่องทางออนไลน์อื่นที่รัฐควบคุมไม่ถึง

สินค้าจีนที่เข้ามาขายในไทยในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นสินค้าที่มีแบรนด์ มีมาตรฐาน และถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น ซึ่งจะเข้ามาแข่งขันกับสินค้าไทยอย่างตรงไปตรงมา โดยสินค้าจีนจะมีความได้เปรียบในด้านราคา ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวหรือปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น

**คำแนะนำ**

ธุรกิจไทยไม่ควรแข่งขันด้านราคากับธุรกิจสินค้าจีน เพราะสินค้าจีนมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน ผู้ประกอบการไทยควรปรับธุรกิจให้โดดเด่นในด้านอื่น เช่น บริการหลังการขายที่มีคุณภาพ และการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น บริการซ่อมแซม รับประกัน หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีจุดแข็งในด้านความใกล้ชิดกับลูกค้าและการให้บริการที่ครบวงจร ที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือกว่าธุรกิจสินค้าจีนได้

7. การค้าออนไลน์ยุคใหม่ เน้นใช้เครื่องมืออัตโนมัติและ AI


เทคโนโลยีในการค้าออนไลน์พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจออนไลน์สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ เช่น จากเดิมที่ต้องลงประกาศขายสินค้าทีละช่องทาง ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่ช่วยเชื่อมต่อช่องทางการขายต่างๆ เข้าด้วยกัน ช่วยให้ร้านค้าสามารถจัดการคำสั่งซื้อและสต็อกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือที่ช่วยในด้านการขนส่ง การบัญชี การบริการลูกค้า และการตลาดออนไลน์

เทคโนโลยี AI ที่กำลังพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ธุรกิจออนไลน์สามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การสร้างรูปภาพสินค้า การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า และการวางกลยุทธ์การตลาด เป็นต้น ผู้ประกอบการออนไลน์จึงควรให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ นอกเหนือจากการเพิ่มยอดขายเพียงอย่างเดียว

**คำแนะนำ**

เริ่มต้นหาเครื่องมือช่วยการขายออนไลน์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ เช่น ระบบบริหารคำสั่งซื้อ ระบบชำระเงิน ระบบบริหารลูกค้า และระบบบัญชี เป็นต้น

8. เพิ่มการซื้อซ้ำด้วย CDP


ช่องทางการค้าออนไลน์ที่หลากหลาย ทำให้ข้อมูลลูกค้ากระจัดกระจาย ยากต่อการติดต่อและเข้าใจลูกค้า ดังนั้นจึงควรใช้ CDP (Customer Data Platform) เพื่อรวมศูนย์ข้อมูลลูกค้าไว้ที่เดียว ช่วยให้เข้าใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดย CDP ช่วยเพิ่มการซื้อซ้ำได้โดยการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อส่งข้อความการตลาดที่เหมาะสม และทำการตลาดแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คน

**คำแนะนำ**

ศึกษาและเลือกใช้ CDP ของไทย เช่น Sable.asia หรือ Pams.ai ช่วยให้บริหารจัดการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

9. เทรนด์ Online Young Selfmade Rich


เทรนด์โอกาสสร้างธุรกิจร้อยล้านของคนรุ่นใหม่ Online Young Selfmade Rich คือ การรวยได้ตั้งแต่เด็ก ด้วยการใช้ช่องทางออนไลน์ คนรุ่นใหม่จึงสามารถเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ได้ทันที ด้วยต้นทุนและงบประมาณที่ต่ำ ส่งผลให้มีเด็กรุ่นใหม่ที่สร้างยอดขายได้เป็นร้อยล้านเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่นน้องโม สาวน้อยอายุ 24 จากจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถสร้างยอดขายสินค้าสกินแคร์แบรนด์ของตัวเองได้กว่า 100 ล้านบาทภายในไม่ถึง 1 ปี ดูการสัมภาษณ์ได้ที่ https://www.facebook.com/PawootPom/videos/316087481220316

**คำแนะนำ**

เมื่อเด็กๆ ทำได้ คนอื่นก็ทำได้ แต่ขอให้เริ่มต้น “ลงมือทำ” ถ้าหากสามารถ “ทำทันที” รวมไปถึง “ทำแตกต่าง” และ “ทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุด” คุณจะเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจร้อยล้านได้ไม่ยาก

10. เทรนด์ On Demand Commerce ตอบโจทย์ความต้องการสินค้าทันที


ความต้องการสินค้าทันทีกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แอปพลิเคชันสั่งอาหารและสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้ให้บริการต่างๆ ต่างขยายบริการไปยังสินค้าประเภทอื่น นอกเหนือจากอาหาร เช่น สินค้าสด สินค้าในซุปเปอร์มาเก็ต และตามร้านค้าใกล้บ้าน

พ่อค้าแม่ค้าสามารถขยายช่องทางการขายไปยังแอปพลิเคชันเหล่านี้ เพื่อตอบโจทย์กับพฤติกรรมคนที่ต้องการสินค้าทันที

**คำแนะนำ**

ตรวจสอบว่าสินค้าของเราเหมาะกับการขายแบบส่งทันทีหรือไม่ หากใช่ ติดต่อบริการส่งอาหารออนไลน์ที่มีบริการ “มาร์ท (Mart)” ที่สามารถเปิดร้านค้าขายสินค้าได้ทันที

11. การค้าแบบสมัครสมาชิก รายได้ต่อเนื่อง Subscription Commerce


การขายสินค้าและบริการแบบสมัครสมาชิก ช่วยให้ธุรกิจสร้างรายได้ต่อเนื่อง เพราะลูกค้าจ่ายเงินรายเดือน ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว และลูกค้าสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพราะราคาต่อเดือนไม่สูง ตัวอย่างธุรกิจแบบสมัครสมาชิก เช่น Netflix, Spotify, Apple Music, Amazon Prime Video

เราเรียกการเก็บเงินรูปแบบนี้ว่า การเก็บเงินแบบสมัครสมาชิก (Subscription) หรือ การหักเงินอัตโนมัติรายเดือน (Recurring Payment) ปัจจุบันมีผู้ให้บริการเก็บเงินแบบสมัครสมาชิกรายเดือนมากมาย เช่น PaySolutions.asia โดยหลักการทำงาน คือให้ลูกค้าผูกบัตรเครดิตของเขาในระบบ หลังจากนั้นระบบจะตัดเงินจากบัตรเครดิตโดยอัตโนมัติทุกเดือนให้คุณ

**คำแนะนำ**

ตรวจสอบว่าสินค้าและบริการของคุณสามารถปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบสมัครสมาชิกหรือตัดเงินอัตโนมัติได้หรือไม่ หากสามารถทำได้ จะช่วยให้ราคาสินค้าและบริการถูกลง ทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยเก็บเงินลูกค้าเป็นรายเดือนผ่านการพักบัตรเครดิตอัตโนมัติ หากมีโอกาสให้ลองทำเลย

12. D2C ขายตรงสู่ผู้บริโภคโอกาสใหม่ของผู้ผลิต


ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาช่องทางการขายค้าปลีกแบบเดิมๆ ที่ต้องผ่านระบบซับพลายเชน (Supply Chain) หรือช่องทางการค้าที่เคยใช้มาช้านาน เช่น เครือข่ายค้าส่ง (Wholesaler), ตัวแทนกระจายสินค้า (Distributor) หรือ เครือข่ายค้าปลีก

ข้อนี้ผู้ผลิตสามารถขายตรงไปยังผู้บริโภคได้เลย ผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านค้าของแบรนด์ตัวเองผ่านมาร์เก็ตเพลส หรือโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้ผลิตสามารถขายตรงยังผู้บริโภค โดยที่สามารถลดต้นทุนจากการจ่ายให้กับเครือข่ายค้าปลีกแบบเดิมๆ และที่สำคัญ ผู้ผลิต จะสามารถได้ข้อมูลของลูกค้า (Customer Data) ได้ทันที ทำให้เปิดโอกาสการค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่ผู้ผลิตไม่เคยทำมาก่อน

**คำแนะนำ**

หากคุณเป็นผู้ผลิตสินค้า สิ่งนี้คุณต้องทำคือเริ่มสร้างทีมออนไลน์ของตัวเอง และโฟกัสการขายช่องทางออนไลน์ของตัวเอง ตั้งเป้ายอดขาย สร้างกลยุทธ์การขาย ที่คุณสามารถสร้างรายได้ของจากลูกค้า แต่ก็ต้องระวังการไปขัดกับช่องทางการขายหรือคู่ค้าเดิมของคุณด้วย

ทั้ง 12 ข้อที่กล่าวมา เป็นแนวโน้มของการค้าออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 และข้อแนะนำในแต่ละแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยคุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนรับมือเพื่อปรับกลยุทธ์ใหม่ ๆ สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว และผู้ที่สนใจเริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์ได้

สนใจสอบถาม ระบบรับชำระเงินออนไลน์ Pay Solutions


LINE ID : @paysolutions
โทร : 02-821-6163

ติดตามข่าวสารเเละกิจกรรมอื่นๆ ได้ที่


www.facebook.com/paysolutionsdotasia